top of page
ถอนฟัน
ถอนฟันคุด

การถอนฟัน

    ถึงแม้ว่าเราจะคาดหวังว่าฟันแท้จะสามารถใช้งานได้ตลอดชีวิต แต่ก็จะมีสาเหตุบางอย่างที่ทำให้ฟันแท้ต้องถูกถอนออกไปยกตัวอย่างเช่น

    1. ถอนฟันร่วมกับการจัดฟัน ในกรณีที่ฟันซ้อนเกมากๆ ฟันที่มีอยู่มีขนาดใหญ่กว่าขากรรไกรทำให้ต้องพิจารณาถอนฟันร่วมกับการจัดฟันให้ฟันเรียงเรียบ

    2. ฟันผุ ในกรณีที่ฟันผุทะลุถึงโพรงประสาทฟัน จะทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าไปในโพรงประสาทฟันได้ โดยทั่วไปจะสามารถทำการรักษารากฟันเพื่อเก็บฟันซี่นั้นไว้ได้ แต่ถ้าฟันผุลามใหญ่มาก หรือการรักษารากฟันไม่สามารถกำจัดการติดเชื้อได้ ฟันซี่นั้นก็อาจจะต้องถูกถอนเพื่อป้องกันไม่ให้การติดเชื้อลุกลามไปบริเวณอื่นของร่างกาย

    3. โรคปริทันต์อักเสบ (โรครำมะนาด) ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฟันถูกถอน เนื่องจากกระดูก และเหงือกที่อยู่รอบรากฟันไม่แข็งแรงพอที่ ทำให้ฟันซี่นั้นโยก และอาจถูกถอนได้ในที่สุด

 
ขั้นตอนการถอน

    คุณหมอที่จะถอนเริ่มใส่ยาชาไปบริเวณที่ถอนฟัน ยาชาจะใช้เวลาประมาณ 3-5 นาที ถึงจะเริ่มออกฤทธิ์ และจะมีฤทธิ์ อยู่ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับปริมาณยาชาที่คุณหมอใส่ให้ เมื่อยาชาเริ่มออกฤทธิ์ คุณหมอจะค่อยๆ ใช้คีมจับที่ตัวฟันแล้วค่อยๆ โยกให้ฟันขยับที่ละน้อย จนกระทั่งฟันหลุดออกมาในที่สุด ในบางกรณีที่ฟันแน่น คุณหมอจะต้องตัดฟันเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วค่อยคีบออกมา

    หลังฟันหลุดออกมาแล้ว จะมี Blood Clot สร้างขึ้นมาให้บริเวณที่ฟันถูกถอนออกไป คุณหมอจะให้กัดผ้ากอซบนแผลถอนฟัน เพื่อทำการหยุดเลือด ในบางกรณีอาจมีการเย็บแผลร่วมด้วย

    Blood Clot  ที่ร่างกายสร้างขึ้นมาหลังจาก ถ้าหลุดออกมาจะทำให้เกิดการปวดอย่างรุนแรงหลังการถอนฟัน อาการนี้เรียกว่า Dry Socket แนะนำว่าให้รีบเข้าพบคุณหมอ เพื่อที่จะใส่ยาลดอาการปวดลงไปในระหว่างรอแผลหาย

 

สิ่งที่ต้องแจ้งให้คุณหมอทราบก่อนการถอนฟัน

    การถอนฟันนั้นเป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่ก็ยังความเสี่ยงบางอย่างที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ดังนั้นถ้าคนไข้มีความเสี่ยง มีโรคประจำตัวที่อาจติดเชื้อได้ง่าย รวมถึงยาที่รับประทานเป็นประจำ ควรแจ้งให้คุณหมอทราบก่อน

วิธีการดูแลรักษาหลังการถอนฟัน

    หลังจากการถอนฟัน คนไข้ควรพักผ่อน โดยทั่วไปประมาณ 2-3 วัน อาการก็จะเริ่มดีขึ้น 

    ขั้นตอนต่อไปนี้ จะช่วยลดอาการปวด การติดเชื้อ และช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น

  1. ทานยาแก้ปวดตามที่คุณหมอสั่ง

  2. กัดผ้ากอซให้แน่นในตำแหน่งที่คุณหมอให้กัด เพื่อให้เลือดหยุดไหล โดยกัดไว้เป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

  3. ในกรณีที่ถอนฟันยาก ให้ใช้น้ำแข็งประคบ เพื่อลดการบวม

  4. ให้พักผ่อนในวันแรกหลังถอนฟัน และลดกิจกรรมในวันต่อมาเป็นเวลา 1-2 วัน

  5. หลีกเลี่ยงการบ้วนน้ำ และถุยน้ำลายใน วันแรกหลังการถอนฟัน เพื่อป้องกันไม่ให้ Blood Clot หลุดออกจากแผลถอนฟัน

  6. หลังจากครบ 24 ชม. แล้ว บ้วนน้ำเกลืออุ่นๆ (น้ำอุ่น 1 แก้ว และเกลือ 1/2 ช้อนชา)

  7. ห้ามดืมน้ำจากหลอดในวันแรก เพื่อป้องกันไม่ให้ Blood Clot หลุดออกจากแผลถอนฟัน

  8. ห้ามดื่มเหล้า และสูบบุหรี่ เนื่องจากจะทำให้แผลหายช้า

  9. ทานอาหารอ่อนๆ ในช่วงแรกหลังการถอนฟัน แล้วค่อยๆ ทานอาหารเป็นปกติตามลำดับ เมื่อแผลเริ่มหาย

  10. ให้นอนบนหมอนสูง การนอนราบจะทำให้เลือดหยุดยากขึ้นให้แปรงฟัน แปรงลิ้น และใช้ไหมขัดฟัน ตามปกติ ยกเว้น บริเวณแผลถอนฟัน ให้แปรงเบาๆ

อาการแบบไหนที่ต้องรีบกลับมาพบคุณหมอ

    หลังจากยาชาหมดฤทธิ์ อาจจะมีอาการปวดได้ตามปกติ โดยอาจจะมีการบวม และเลือดออกตามได้ แต่ถ้ามีอาการ ดังต่อไปนี้ควรกลับมาพบทันตแพทย์

  1. ปวดอย่างรุนแรง หรือเลือดออกมาก เกิน 4 ชม. 

  2. มีไข้ และหนาวสั่น ซึ่งเป็นอาการของการติดเชื้อ

  3. คลื่นไส้ และอาเจียร

  4. บวมแดง หรือมีหนองบริเวณที่ถอนฟัน
     

การหายของแผลถอนฟัน และหลังจากแผลหายแล้ว

    การหายของแผลขั้นต้นจะใช้เวลาประมาณ 2-4 อาทิตย์ โดยร่างกายจะสร้างเหงือก และกระดูกเข้ามาปิดแผลที่ถอนฟันออกไป

    อย่างไรก็ตามช่องว่างที่เกิดขึ้นนั้นอาจสร้างปัญหาตามมาได้ เช่น ทำให้ฟันข้างเคียงล้มมาที่ช่องว่าง ทำให้ไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ คุณหมอส่วนมากจึงแนะนำให้ใส่ฟันหลังจากถอนฟันไป

bottom of page